
หลักการและเหตุผล
ในโลกยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เป็นธรรมดาที่สังคมย่อมต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่หมุนไวตามไปด้วย องค์ความรู้หลายอย่างถูกนำมาใช้พัฒนากันอย่างต่อเนื่อง การศึกษายุคใหม่หันมาให้ความสนใจกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และความสามารถส่วนตัว เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่จะช่วยผลักดันให้เกิดประสบการณ์ทางการเรียนรู้ใหม่ๆ สั่งสมไปทั้งช่วงชีวิต หรือที่เราเรียกกันว่า “Life Long Learning”
หนึ่งในความน่าสนใจของการพัฒนาที่สำคัญคือ การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ เพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมที่มีชีวิตและจิตใจ ดำเนินชีวิตหลายบทบาทมีปฏิสัมพันธ์หลากหลายด้าน ทั้งสังคมการทำงาน ครอบครัว และชุมชน ย่อมพบว่ามีความแตกต่างกันทั้งความคิด ทัศนคติ ประสบการณ์ รวมถึงรูปแบบการทำงานและวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนกัน และบ่อยครั้งทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน การได้กลับมาเรียนรู้พัฒนาในเรื่อง “การรู้จักตนเอง (Self Awareness)” รวมถึงการรับรู้และรู้จักศักยภาพความสามารถของตัวเราเองในมิติต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในโลกยุคดิจิทัล
องค์กรยุคใหม่ให้ความสำคัญกับ “Soft Skill” คือ ทักษะทางสังคมที่ใช้เพื่อปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในการอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะสภาวะที่สังคมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การส่งเสริมให้คนในองค์กรพนักงานมีความสามารถในการเรียนรู้ปรับตัว มีทักษะทางสังคมมากยิ่งขึ้น ความสามารถในด้านเอื้อประโยชน์ที่ทำให้การดำเนินชีวิตของบุคคลประสบความสำเร็จ และมีความสุขในชีวิตได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการทำงานที่ต้องร่วมมือกันกับผู้อื่น เช่น การแก้ไขปัญหา การสื่อสาร ความคิด การตัดสินใจ การจัดการเวลา ความขัดแย้งและอื่นๆ สามารถช่วยให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพเข้ากับสถานการณ์การทำงานยุคใหม่
“นพลักษณ์” หรือ Enneagram of Personality มีมาแต่โบราณเป็นศาสตร์หนึ่งที่นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพของบุคคล เป็นองค์ความรู้ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนจากการเรียนรู้ ในทางจิตวิทยาเป็นแบบจำลองที่ใช้ศึกษาบุคลิกลักษณะของคน โดยแบ่งออกเป็น 9 ประเภท หรือ “ลักษณ์” เปรียบเสมือนแผนที่นำทางทำให้รู้จักเข้าใจตนเองและผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การพัฒนา เข้าใจในความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์และช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เพื่อเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างมีความสุข การอบรมนพลักษณ์ขั้นต้นมีกระบวนการที่นำพาการเรียนรู้ให้เห็นถึงโลกภายในของเราที่ตอบสนองสิ่งต่างๆ ต่อโลกภายนอก จากพฤติกรรมและบุคลิกภาพของคนแต่ละประเภทที่มีความแตกต่างกัน เรียนรู้จุดแข็งและจุดอ่อนในการพัฒนาตนเอง ซึ่งล้วนเป็นแบบเฉพาะตัวของเราที่ไม่ซ้ำใคร อย่างไรก็ตามบุคลิกตามลักษณ์ของเรา แต่ละคนยังมีศักยภาพอีกมากมาย ที่สามารถนำมาใช้พัฒนาตนเองให้เกิดประโยชน์และสร้างสรรค์ได้ในทุกมิติ เหมาะสำหรับนำมาพัฒนาองค์กร ศักยภาพความเป็นผู้นำ การสร้างทีมเวิร์ค และการพัฒนาตนเอง
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เข้าใจตนเองและผู้อื่นมากขึ้น
2. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง และนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
3. เพื่อทราบถึงความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสัมพันธภาพอันดีต่อกันในองค์กร
4. เพื่อเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับองค์กร
5. เพื่อลดความขัดแย้งและการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. สร้างความตระหนักรู้ในการเข้าใจตนเองและผู้อื่น
2. ทราบถึงแนวทางการพัฒนาตนเองและศักยภาพของตนเองในการนำมาประยุกต์ใช้
3. เข้าใจถึงความแตกต่างของคนแต่ละลักษณ์
4. มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน
5. การอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจและมีความสุขมากยิ่งขึ้น
รอบการอบรม
- รอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 13 – 14 กรกฏาคม 2567 เวลา 8.30 – 16.30 น.
- รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 3 – 4 สิงหาคม 2567 เวลา 8.30 – 16.30 น.
วิทยากร
1. นางสาวศุภลักษณ์ รักธรรม ผู้ช่วยคณบดี บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม
2. นางสาวนวพรรษ จินดารัตนวรกุล กระบวนกรจากสมาคมนพลักษณ์ไทย
3. นายเอกวัฒน์ นิธิไชโย นักพัฒนาการศึกษา สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.)
สถานที่อบรม : อาคาร KX Knowledge Exchange for Innovation (KMUTT)